Wednesday, 20 February 2019

โรคหน้าร้อนอันตรายถึงตาย


ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา คือประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งคาดว่าฤดูร้อนจะกินเวลานานถึงกลางเดือน พ.ค. เลยทีเดียว นั่นเท่ากับว่าประชาชนจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนชนิดที่หลายคนเปรียบเปรยว่าร้อนจนปรอทแทบแตก แต่นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งมักจะมาพร้อมๆกับหน้าร้อนเสมอเหมือนเงาตามตัว นั่นก็คือ ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะ 4 โรค ที่มักพบบ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยข้อมูลจาก สำนักระบาดวิทยา ระบุว่า
1.โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก ในปี 2560 พบผู้เสียชีวิต 21 ราย ส่วนปี 2561 แม้ยังไม่พบมีผู้เสียชีวิต แต่มีการคาดการณ์ว่าจะพบผู้ป่วยสูงถึง 400 คนต่อเดือน และนั่นถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะหากประชาชนไม่มีความรู้ ในจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวอาจต้องมีครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากโรคลมแดดเลยทีเดียว ดังนั้น หากมีอาการปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้  อาเจียน ตัวร้อน กระหายน้ำ เหงื่อออกมากจนไม่มีเหงื่อ หัวใจเต้นแรง เป็นตะคริว เดินเซ  การช่วยเหลือขั้นต้น คือ นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบกับพื้นยกเท้าทั้ง 2 ข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำที่สุด ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบตามข้อพับต่างๆ แต่หากถึงขั้น เป็นลมหมดสติ ควรรีบนำส่งแพทย์ เพราะหากช่วยไม่ทันอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
2.โรคอาหารเป็นพิษหรือท้องร่วง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 มี.ค. พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 25,550 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่เมื่อปี 2560 พบผู้ป่วย 108,153 ราย เสียชีวิต 3 ราย การป้องกันทำได้ โดยการบริโภคอาหารที่ปรุงสุกร้อนและสะอาด นอกจากนี้ ควรจัดเก็บอาหารให้ปลอดภัยจากสัตว์และแมลงพาหะต่างๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค โดยอาการที่ควรไปพบแพทย์คือเข้าห้องน้ำหลายครั้งและมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดท้องรุนแรง หน้ามืด ยิ่งต้องรีบพบแพทย์ และดื่มน้ำผสมเกลือแร่เติมสารเหลวเข้าร่างกายเพื่อป้องกันอาการช็อกและเสียชีวิต
3.โรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-16 มี.ค. พบผู้เสียชีวิต 5 ราย ใน 5 จังหวัด คือ จ.สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนในปี 2560 พบผู้เสียชีวิต 11 ราย นอกจากนี้ หากเจาะลึกลงไปจะพบว่า ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการประกาศพื้นที่โรคระบาดชั่วคราวแล้ว 22 จังหวัด โดยโรคพิษสุนัขบ้านั้นสามารถป้องกันได้ คือหากถูกสุนัขแม้จะเป็นเพียงลูกสุนัข รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ข่วน ต้องล้าง แผลใส่ยาก่อนไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงและฉีดวัคซีนป้องกัน
4.โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 มี.ค. พบผู้ป่วย 3,651 ราย เสียชีวิต 9 ราย และมีการคาดการณ์ว่า จะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 75,00 0ราย เพิ่มจากปี 2560 ร้อยละ 29 ประกอบกับสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน มีฝนตกสลับกับมีอากาศร้อน อาจทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมา โดยผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน 2-3 วัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังแขนขาและข้อพับ หากมีอาการดังกล่าวขอรีบพบแพทย์
นพ.สุวรรณ ชัยวัฒนา ยิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคที่จะพบได้มากในช่วงหน้าร้อนมี 4 โรค ที่หากไม่รู้วิธีป้องกันรักษาหรือดูแลตัวเองอาการอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้ง โรคลมแดด เป็นโรคที่พบผู้เสียชีวิตได้ทุกปีในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง โดยเฉพาะช่วงเดือน เม.ย. และผู้ที่เสียชีวิตมักเกิดจากการขาดความรู้ในการดูแลตัวเอง โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่พบได้บ่อย เพราะอากาศที่ร้อนทำให้อาหารบูดง่าย โดยเฉพาะอาหารที่ใส่กะทิ ส้มตำ ยำประเภทต่างๆ และอาหารทะเล ซึ่งแต่เดิมมักพบในเด็ก แต่ปัจจุบันพบได้ในทุกวัย โรคพิษสุนัขบ้า ที่เกิดการระบาดในสัตว์ทำให้คนมีความเสี่ยงที่จะติดโรคไปด้วย แต่สิ่งที่อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน ก็คือนำสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนทุกปีอย่ารอเพียงหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้า ถึงจะไม่มียารักษาแต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เมื่อถูกสัตว์กัดหรือข่วน แต่ หากปล่อยให้มีอาการป่วยแล้วจะต้องเสียชีวิตทุกราย และ โรคไข้เลือดออก ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะในปีนี้ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่สูงเหมือนที่คาดการณ์แต่ที่น่าเป็นห่วงคือพบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากเจ็บป่วยแล้วอาการเข้าข่ายโรคไข้เลือดออกควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ไปพบแพทย์ช้า
"สำหรับมาตระการดูแลโรคในช่วงหน้าร้อนจะเน้นใน 3 มาตรการ คือ 1.เรื่องการสื่อสารความเสี่ยง โดยมีการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนเพราะทั้ง 4 โรค เป็นโรคที่ป้องกันได้แต่ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจ 2.มีระบบการเฝ้าระวัง ทั้งในระบบชุมชน และดึงทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน เพราะบางโรคมักจะพบความผิดปกติในชุมชนก่อน หากมีระบบเฝ้าระวังก็จะทำให้เราเข้าไปในพื้นที่ได้รวดเร็วทำให้มีการควบคุมป้องกันและดูแลรักษาโรคที่ต้นเหตุได้อย่างรวดเร็ว และ 3.มีระบบการดูแลรักษา โดยทำให้บุคลากรมีความเข้าใจและมีความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ทั้งนี้ การควบคุมโรคที่ดีไม่ใช่แค่ตัวผู้ป่วยหรือบุคลากรเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ที่พบในสัตว์เราก็ต้องทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ เพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเสริมถึงมาตรการปกป้องสุขภาพจากโรคที่ป้องกันได้
ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยกับมาตรการการดูแลสุขภาพประชาชนแบบครบวงจร   โดยเฉพาะการดึงทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงานทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน ชุมชน และประชาชน เพราะคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมของครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักกับการสังเวยชีวิตให้กับทั้ง 4 โรค ที่สามารถควบคุมและป้องกันได้และนั่นอาจหมายรวมถึงความล้มเหลวในระบบสาธารณสุขของชาติ

No comments: