Monday, 6 May 2013

ปวดบริเวณต้นคอ บ่า สะบัก บางครั้งอันตรายกว่าที่คิด

               อาการปวดบริเวณต้นคอ บ่า สะบัก เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเคยเกิดปัญหาลักษณะนี้มาก่อน และมักหาทางออกด้วยการไปใช้บริการนวดแผนโบราณ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง มากน้อยแตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็หวนกลับมาเป็นอีก



            ปัญหาเรื่องอาการปวดบริเวณคอนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง ผศ.นพ.เจริญชัย อัศวก้องเกียรติ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ประจำโรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า อาการปวดคอพบได้ในคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งทำงานในสำนักงาน หรือชาวออฟฟิศ (Office) นั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มือพิมพ์แป้นพิมพ์ต่อเนื่องหลายชั่วโมง การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ เป็นสาเหตุของอาการปวดคอที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อยมาก อาจปวดแบบเป็นๆ หายๆ หรือปวดเรื้อรัง ถ้าอาการปวดมาจากกล้ามเนื้อจะไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าปวดรุนแรงมากเพราะหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณกระดูกต้นคอเสื่อม แล้วเคลื่อนไปทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง อาการปวดชนิดนี้นับว่าเป็นอันตราย
        
     

               เพื่อให้รู้จักหมอนรองกระดูกมากขึ้น ผศ.นพ.เจริญชัยอธิบายว่า คอและหลังของคนเราจะประกอบด้วยกระดูกสันหลังหลายๆ ข้อมาต่อกัน ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีอวัยวะชนิดหนึ่งคั่นอยู่เรียกว่า หมอนรองกระดูก ซึ่งจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ วงรอบนอกจะมีลักษณะเป็นวงแหวนที่มีความหยุ่น เหนียว คล้ายยางรถยนต์ และใจกลางวงแหวนนี้จะมีลักษณะเป็นเหมือนเจลใสๆ ทั้งหมดมีหน้าที่รับแรงกระแทกและมีความยืดหยุ่นในตัว ทำให้เราเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังได้ดีขึ้น
            นอกจากพฤติกรรมใช้งานคอและหลังแบบผิดๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ที่ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมแล้ว อายุที่มากขึ้นก็เป็นสาเหตุของหมอนรองกระดูกเสื่อมเช่นกัน เพราะภาวะนี้เป็นการเสื่อมตามธรรมชาติ เมื่ออายุเกิน 30 ปี โปรตีนที่อยู่ในเจลซึ่งอยู่ข้างในหมอนรองกระดูก รวมถึงวงแหวนรอบนอกจะเริ่มเสื่อม อีกทั้งยังสูญเสียความยืดหยุ่นและคุณสมบัติการรับแรงกระแทก ทำให้เวลาขยับตัว กระแทก หรือใช้งานมากๆ จะทำให้วงแหวนที่อยู่รอบๆ เจลดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่ยึดระหว่างข้อต่อแต่ละข้อเปื่อยยุ่ยและฉีกขาดในที่สุด จนเนื้อของหมอนรองกระดูกเกิดการเคลื่อนไปข้างหลัง เบียดอวัยวะสำคัญที่คอคือ ไขสันหลังที่ต่อมาจากสมอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย หรือเส้นประสาท ถ้าหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือเคลื่อนจนทำให้ความแข็งแรงในการยึดกันของข้อ กระดูกสันหลังลดลง ร่างกายจะพยายามสร้างหินปูน หรือสร้างเนื้อเยื่อโดยรอบข้อต่อให้หนาตัวมากยิ่งขึ้น จะยิ่งทำให้มีการกดทับช่องไขสันหลังมากขึ้น
             ในระยะแรกอาจแยกไม่ออกว่าอาการปวดคอนั้นเป็นอาการปวดทั่วๆ ไป หรือปวดเพราะหมอนรองกระดูกเสื่อม แต่สามารถสังเกตได้โดย ถ้าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อจะมีอาการเมื่อใช้งาน พอได้พักอาการจะดีขึ้น แต่กรณีที่เป็นหมอนรองกระดูกเสื่อม แม้จะพักผ่อนแล้วอาการไม่ค่อยจะดีขึ้น ยังคงปวดต่อเนื่อง

อาการปวดคอแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
กลุ่มที่มีอาการปวดคออย่างเดียว ปวดมาถึงบ่าถึงสะบัก กลุ่มนี้ถึงแม้จะรักษาค่อนข้างง่าย แต่ก็เป็นอันตรายหรือภัยเงียบด้วยเช่นกัน เพราะผู้ป่วยคิดว่าไม่อันตรายจึงไม่มาพบแพทย์ แต่ความจริงแล้วควรมาพบแพทย์เพื่อแยกว่าเป็น Office Syndrome หรือหมอนรองกระดูกเสื่อม
กลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับเส้นประสาท มีอาการแสดงคือ ปวดร้าวลงแขนไปจนถึงมือร่วมกับอาการชา รายที่เป็นมากๆ อาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย เช่น ยกไหลไม่ขึ้น ขยับนิ้ว หรือกระดกข้อมือไม่ขึ้น นอกจากนี้ หากมีการกดทับเส้นประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับส่วนใด จะส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นลีบลงด้วย บางครั้งอาจลีบถาวร ถึงแม้จะทำการผ่าตัดแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้เมื่อทำการรักษาโอกาสหายมีมากกว่ากลุ่มที่หมอนรองกระดูกเสื่อมที่ไป กดทับไขสันหลัง
               
                   กลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง กลุ่มนี้จะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน ทำให้กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักจะเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยอาจมีประวัติปวดคอเรื้อรัง ร่วมกับปวดลงแขนหรือลงขา หรือมีอาการชาร่วมด้วย ไปจนถึงมีอาการอ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อบางส่วนเจ็บ กล้ามเนื้อมือลีบ หยิบจับของเล็กๆ หรือใช้มือทำงานที่ละเอียด เช่น กลัดกระดุม ผูกเชือกรองเท้าไม่ถนัด ตลอดจนมีอาการของการเดินเซ สูญเสียการทรงตัวที่ดีไป อาจมีอาการจนถึงขั้นควบคุมระบบการขับถ่ายได้ลำบาก
ในอดีตกลุ่มที่ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง จะทำการรักษาค่อนข้างลำบากและมีความเสี่ยงสูง เพราะระยะห่างระหว่างไขสันหลังกับหมอนรองกระดูก หรือหมอนรองกระดูกกับเส้นประสาทห่างกันประมาณ 1 มิลลิเมตร หรือไม่ถึงมิลลิเมตร แต่สมัยนี้มีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัย มีการนำเครื่องมือที่ดีมาช่วยในการผ่าตัดให้มีความแม่นยำและมีความปลอดภัย สูงขึ้น โดยใช้กล้องขยายที่เรียกว่า “ไมโครสโคป” (Spine microscope) หลักการเหมือนกล้องจุลทรรศ์ที่นักเรียนใช้ดูจุลินทรีย์ในห้องทดลอง เป็นการส่องอนุภาคเล็กๆ ให้ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มองเห็นชัดเจน นำมาสู่ความแม่นยำ และปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด
              ส่วนผลการผ่าตัดถ้าแก้ไขตรงจุดหรือไม่ปล่อยจนอาการเลวร้ายจนเกินไป ผลการผ่าตัดจะดี อาการปวด อาการชาจะหายไป และกล้ามเนื้อที่เคยอ่อนแรงจะค่อยๆ ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้
ผศ.นพ.เจริญชัย แนะนำวิธีป้องกันและบรรเทาอาการปวดคอว่า ควรทำกายบริหารโดยพยายามออกกำลังกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบคอให้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ขยับกล้ามเนื้อบริเวณคอเลย สามารถบริหารกล้ามเนื้อคอได้โดยการยืดและการเกร็งกล้ามเนื้อ ดังนี้

                1. การยืดกล้ามเนื้อ ก้มให้คางชิดอกค้างไว้ นับ10 วินาที แล้วเงยหน้าขึ้นในทิศทางตรงข้ามค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นก็ทำเช่นเดียวกันแต่ให้หันหน้าและเอียงศีรษะไปในทิศทางซ้ายและขวา ค้างไว้ข้างละ 10 วินาที เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อให้มีการเคลื่อนไหว
               2. การเกร็งกล้ามเนื้อ เพื่อเสริมความแข็งแรงและความทนทานให้กล้ามเนื้อคอ ด้วยการเอามือดันศีรษะไว้ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ขณะเดียวกันก็พยายามเกร็งคอเพื่อต้านแรงดันจากมือที่ดันศีรษะไว้ ให้ทำทุกทิศทางทั้งดันขมับด้านซ้ายและขวา หน้าผากและท้ายทอย การทำเช่นนี้จะช่วยให้คอได้ออกกำลังกาย
ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ทิ้งท้ายว่า ผู้ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดคอ ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าอาการที่เป็นรุนแรงถึงขั้นเป็นหมอนรองกระดูกกดทับไข สันหลัง บางครั้งมาพบแพทย์เมื่อสาย ตอนที่โรคเป็นมากแล้ว ด้วยอาการเสียการทรงตัว หรืออาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ควบคุมความสมดุลของร่างกายไม่ดี หกล้มง่าย หรือใช้มือทำงานที่มีความละเอียดไม่ได้ เพราะควบคุมความละเอียดของกล้ามเนื้อไม่ได้ เป็นต้น จึงไม่อยากให้ประวิงเวลาในการมาพบแพทย์ เพราะคิดว่าอาการปวดคอที่เป็นๆ หายๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่อันตรายอะไร แล้วรอจนเป็นมากแล้วถึงมาพบแพทย์ อาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาได้

              ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี

No comments: